ฝึกหัดสมาธิโดยบริกรรมพุทโธ(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

LP_Tes01

          พึงนั่งสมาธิดังนี้ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรงแล้วนึกเอาคำ บริกรรม พุทโธ ๆ กำหนดไว้ที่ท่ามกลางหน้าอก คือ ใจ อย่าให้จิตส่งส่ายไปมาข้างหน้าข้างหลัง พึงตั้งสติสำรวมจิตให้อยู่คงที่ เป็นเอกัคคตาจิตแน่วแน่ จิตก็จะเข้าถึงสมาธิได้เลย

          เมื่อเข้าถึงสมาธิแล้ว บางทีก็ไม่รู้ตัวหายเงียบไปเลย ไม่รู้ว่าเรานั่งนานสักเท่าใด กว่าจะออกจากสมาธิก็เป็นเวลาตั้งหลายชั่วโมงก็มี เพราะฉะนั้น การนั่งสมาธิจึงไม่ต้องกำหนดเวลา ให้ปล่อยตามเรื่องของมันเอง

          จิตที่เข้าถึงสมาธิที่แท้ คือ จิตที่เป็นเอกัคคตาจิต ถ้าไม่เข้าถึงเอกัคคตาจิต ได้ชื่อว่ายังไม่เป็นสมาธิเพราะใจแท้มีอันเดียว ถ้ามีหลายอันอยู่ยังไม่เข้าถึงใจ เป็นแต่จิต

          ก่อนจะฝึกหัดสมาธิ พึงเข้าใจถึงเรื่องจิตกับใจเสียก่อน ในที่นี้พึงทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า จิต กับ ใจ มิใช่อันเดียวกัน
          จิต เป็นผู้คิดนึกปรุงแต่งสัญญาอารมณ์สรรพสิ่งทั้งปวง
          ใจ เป็นผู้นิ่งอยู่เฉยๆ เพียงแต่รู้ว่านิ่งอยู่เฉยๆ ไม่มีคิดนึกปรุงแต่งอะไรอีกเลย
          เปรียบเหมือนกับแม่นํ้ากับคลื่นของแม่นํ้า เมื่อคลื่นสงบแล้วจะยังเหลือแต่แม่นํ้าอันใสแจ๋วอยู่อย่างเดียว
          สรรพวิชาทั้งหลายและกิเลสทั้งปวงจะเกิดมีขึ้นมาได้ก็เพราะจิตคิดนึกปรุงแต่งแส่ส่ายหามา สิ่งทั้งปวงเหล่านั้นจะเห็นได้ชัดด้วยใจของตนเองก็ต่อเมื่อ จิตนิ่งแล้วเข้าถึง ใจ

          นํ้าเป็นของใสสะอาดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อมีผู้เอาสีต่างๆ มาประสมกับนํ้านั้น นํ้านั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสีนั้นๆ แต่เมื่อกลั่นกรองเอานํ้าออกมาจากสีนั้นๆ แล้ว นํ้าก็จะใสสะอาดตามเดิม จิต กับ ใจ ก็มีอุปมาอุปมัยดังอธิบายมานี้

          แท้จริงพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเทศนาไว้แล้วว่า จิตอันใดใจก็อันนั้น ถ้าไม่มีใจ จิตก็ไม่มี จิตเป็นอาการใจไม่มีอาการ การฝึกหัดสมาธิภาวนาไม่ว่าจะฝึกหัดโดยอาจารย์ใดและวิธีใดก็แล้วแต่เถิด ถ้าถูกทางแล้วจะต้องเข้าถึงใจทั้งนั้น

          เมื่อเข้าถึงใจเห็นใจของตนแล้ว ก็จะเห็นสรรพกิเลสของตนทั้งหมด เพราะจิตมันสะสมกิเลสไว้ที่จิตนั้นทั้งหมด คราวนี้เราจะจัดการอย่างไรกับมันก็แล้วแต่เรา

          หมอซึ่งจะรักษาโรคนั้นๆ ให้หายขาดได้ ก็ต้องค้นหาสมุฏฐานของโรคนั้นให้รู้จักเสียก่อน แล้วจึงจะวางยาให้ถูกกับโรคนั้นได้
          เราบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ ไปนาน ๆ เข้า จิตก็จะค่อยคลายความฟุ้งซ่าน แล้วจะค่อยรวมเข้ามาอยู่กับพุทโธจิตจะตั้งมั่นเป็นอารมณ์อันเดียวกับพุทโธ จนเห็นจิตที่ว่าพุทโธอันใดจิตก็อันนั้นอยู่ตลอดทุกเมื่อ ไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใดๆ ก็เห็นจิตใสแจ๋วอยู่กับพุทโธนั้น
          เมื่อได้ถึงขนาดนั้นแล้วขอให้ประคองจิตนั้นไว้ในอารมณ์นั้น นานแสนนานเท่าที่จะนานได้ อย่าเพิ่งอยากเห็นนั่นเห็นนี่ หรืออยากเป็นนั้นเป็นนี้ก่อนเลย

          เพราะความอยากเป็นอุปสรรคแห่งจิตที่เป็นสมาธิอย่างร้ายแรง

          เมื่อความอยากเกิดขึ้นสมาธิก็จะเสื่อมทันที สมาธิเสื่อมเพราะหลักสมาธิ คือ พุทโธ ไม่มั่นคง คราวนั้นแหละคว้าหาหลักอะไรก็ไม่ได้ เกิดความเดือดร้อนใหญ่ คิดถึงแต่อารมณ์ที่เคยได้รับสมาธิความสงบสุขเมื่อก่อนจิตก็ยิ่งฟุ้งใหญ่ ฯลฯ
          ฝึกหัดสมาธิให้เหมือนชาวนาทำ นา เขาไม่รีบร้อนเขาหว่านกล้า ไถ คราด ปักดำ โดยลำดับ ไม่ข้ามขั้นตอนแล้วรอให้ต้นข้าวแก่ ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังไม่เห็นเมล็ดไม่เห็นรวงเลย แต่เขาก็มีความเชื่อมั่นของเขาว่า จะมีเมล็ดมีรวงวันหนึ่งข้างหน้าแน่ๆ เมื่อต้นข้าวแก่แล้วออกรวงมาจึงเชื่อแน่ว่าจะได้รับผลแน่แล้ว เขาไม่ไปชักดึงต้นข้าวให้ออกรวงเอาตามใจชอบ ผู้ไปกระทำเช่นนั้นย่อมไร้ผลโดยแท้
          การฝึกหัดสมาธิภาวนาก็เช่นเดียวกัน จะรีบร้อนข้ามขั้นตอนย่อมไม่ได้ ต้องตั้งจิตให้เลื่อมใสศรัทธาแน่วแน่ว่าอันนี้ล่ะ เป็นคำ บริกรรมที่จะทำให้จิตของเราเป็นสมาธิได้แท้จริง แล้วอย่าไปลังเลสงสัยว่า คำบริกรรมนี้จะถูกกับจริตนิสสัยของเราหรือไม่หนอ คำบริกรรมอันนั้น คนนั้นทำแล้วมันเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ เราทำแล้วจิตไม่ตั้งมั่นอย่างนี้ใช้ไม่ได้
          ถ้าจิตตั้งมั่นแน่วแน่ในคำบริกรรมที่ตนภาวนาอยู่นั้นแล้วเป็นใช้ได้ทั้งนั้น เพราะภาวนาก็เพื่อต้องการทำจิตให้แน่วแน่เท่านั้น ส่วนนอกนั้นมันเป็นตามบุญวาสนาของแต่ละคน
          ครั้งพุทธกาล มีพระรูปหนึ่งไปภาวนาอยู่ใกล้สระนํ้าแห่งหนึ่ง เห็นนกกระยางตัวหนึ่งโฉบปลากินเป็นอาหารท่านเลยถือเอาเป็นคำ บริกรรมภาวนา จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นกกระยางกินปลาไม่เคยเห็นในกัมมัฏฐานบทใดแต่ท่านเอามาภาวนาจนได้สำเร็จ นี้เป็นตัวอย่าง

          จิตที่ตั้งใจอบรมให้เป็นขอบเขตของคำ บริกรรมพุทโธ ๆ ๆ ซึ่งมี สติ เป็นผู้ควบคุมแล้ว ย่อมจะละพยศตัวร้ายกาจของตัวเองได้ และเราก็ต้องฝึกฝนอบรม เพราะต้องการความสุขสงบของจิตธรรมดาของจิตย่อมมีอารมณ์ส่งส่ายหาความฟุ้งซ่านเป็นวิสัยอยู่แล้ว ดังอธิบายมาแล้ว โดยมากมันจะส่งส่ายไปในอารมณ์เหล่านี้ คือพอเริ่มบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ เอาจิตไปตั้งไว้ในพุทโธ ๆ เท่านั้นแหละ มันจะไม่อยู่ในพุทโธ มันจะวิ่งไปหาการงานที่เราเริ่มจะทำ หรือกำลังทำอยู่ ปรุงแต่งทำนั่นทำนี่วุ่นวายกันไปหมด กลัวการงานมันจะไม่ดีไม่งาม กลัวการงานนั้นมันจะไม่สำเร็จ การงานที่เรารับจากคนอื่นหรือเรารับเฉพาะส่วนตัวมันจะเสียผลประโยชน์หรือขายขี้หน้า เมื่อเรารับแล้วไม่ทำตาม ฯลฯ
          นี่เป็นเรื่องรบกวนใจไม่ให้เป็นสมาธิของผู้อบรมใหม่อย่างหนึ่ง เราดึงเอาจิตมาไว้ที่พุทโธ ๆ ๆ นั้นอีก บอกว่านั่นมิใช่หนทางแห่งความสงบ ทางสงบแท้ต้องเอาจิตมาตั้งไว้ที่พุทโธแห่งเดียว แล้วบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ เรื่อยไป ฯลฯ
          ประเดี๋ยวส่งไปอีกแล้ว คราวนี้ไปถึงครอบครัวโน้น ส่งไปหาลูก ไปหาภรรยา ไปหาสามีโน้น เขาจะอยู่อย่างไร เขามีสุขภาพพลานามัยดีหรือไม่หนอ ได้บริโภคอาหารดีมีรสหรือไม่หนอ ถ้าอยู่ห่างไกลกัน ก็คิดถึงที่อยู่ที่นอน จะอยู่จะกินอย่างไร ผู้จากไปก็คิดถึงผู้อยู่ทางบ้าน ผู้อยู่ทางบ้านก็คิดถึงผู้ไปไกล กลัวว่าจะไม่ปลอดภัยกลัวคนอื่นจะมาข่มเหง ไม่มีผู้อยู่เป็นเพื่อน กลัวจะเหงาหงอย ฯลฯ คิดไปร้อยแปดพันเก้า สุดแท้แต่จิตจะปรุงจะแต่งไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันคิดไปเกินกว่าเหตุทั้งนั้น
          หรือถ้ายังเป็นโสดเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ ก็จะปรุงจะแต่งไปในทางสนุกสนานเพลิดเพลินกับหมู่กับเพื่อน ที่เคยเที่ยวสนุกเฮฮาไปในที่ต่างๆ บางคนถึงกับอุทานเป็นเสียงดังหัวเราะก้ากก็มี กิเลสตัวนี้มันร้ายแรงยิ่งกว่าเพื่อน
          เมื่อภาวนาพุทโธ ๆ ๆ กิเลสมันเห็นว่าไม่ได้การแล้ว เขาจะหนีจากเราไปอีกแล้ว มันก็จะสรรหาสิ่งที่จะผูกมัดให้เราติดมั่นเข้าทุกที เราเกิดมาตั้งแต่เด็กจนโตเราไม่เคยฝึกหัดสมาธิภาวนาเลย มีแต่ปล่อยให้จิตไปตามอารมณ์ของกิเลส เพิ่งมาฝึกเดี๋ยวนี้เอง เมื่อมาภาวนาพุทโธ ๆ ๆ เพื่อให้จิตมันมารวมอยู่ที่พุทโธ จิตมันจึงดิ้นเหมือนกับบุคคลโยนปลาขึ้นจากนํ้าไปที่บนหาด ปลาย่อมดิ้นหานํ้าเป็นธรรมดา เราดึงเอาจิตให้เข้ามาหาพุทโธอีก

          พุทโธเป็นของเย็น เป็นทางให้เกิดสันติสุข มีทางเดียวเท่านี้ที่จะทำให้พ้นจากทุกข์ในโลกนี้ได้

          เราดึงเอาจิตเข้ามาอยู่ในพุทโธ ๆ อีก หากคราวนี้พอสงบลงไปได้บ้าง พอรู้สึกว่าจิตมันอยู่ พอเห็นลางๆว่าจิตมันอยู่ มีความสุขสบายต่างกับจิตไม่สงบ มีความทุกข์เดือดร้อน ตั้งใจระวังเอาสติประคองอารมณ์นั้นไว้ เอ้าไปอีกแล้ว โน่น คราวนี้ไปยึดเอาผลประโยชน์มาเป็นเครื่องอ้างว่า ถ้าสิ่งนั้นเราไม่ทำ หรือเราไม่แสวงหาก็จะเสียโอกาสอันมีค่ามหาศาล แล้วก็เอาจิตไปจดจ่ออยู่เฉพาะสิ่งนั้นแทนคำบริกรรมพุทโธ ส่วนพุทโธมันเลยหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ กว่าจะรู้ว่าพุทโธหายไปแล้ว มันก็สายเสียแล้ว จึงว่าจิตนี้เป็นของดิ้นรมกระเสือกกระสน รักษาได้ยากเหมือนกับลิงอยู่ไม่เป็นสุข ฯลฯ
          บางทีนั่งสมาธิภาวนานานๆ เข้า กลัวโลหิตจะไม่เดินหรือเดินไม่สะดวก กลัวเส้นประสาทจะตาย เกิดเป็นเหน็บชาในที่สุดเป็นอัมพาต ถ้าไปภาวนาไกลบ้านหน่อยหรือในป่าก็ยิ่งกลัวใหญ่ กลัวเสือจะมากิน กลัวงูจะมากัดกลัวผีจะมาหลอกทำท่าทีต่างๆ นานาใส่ความกลัวตายยุบยิบไปหลายอย่างหลายประการ ล้วนแล้วแต่ตัวเองหลอกตัวเองทั้งนั้น ความจริงหาได้เป็นดั่งคิดนึกไม่ ตั้งแต่เราเกิดมาจนป่านนี้ยังไม่เห็นเสือกินคนเลยสักคนเดียว ผีก็ไม่เคนเห็นเลยสักที แม้แต่ตัวผีก็ไม่เคยเห็นเลยสักที ไม่ทราบว่าตัวมันเป็นอย่างไรแต่ก็ปรุงแต่งขึ้นมาหลอกตัวเอง
          อุปสรรคของการภาวนาที่ชักตัวอย่างมานี้ พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น ความจริงแล้วมันมีมากกว่านี้ตั้งหลายเท่า ผู้ภาวนาแล้วจะรู้ด้วยตนเอง

          หากว่าเรายึดเอาพุทโธ ๆ มาไว้ที่ใจแล้ว เอาสติควบคุมจิตให้อยู่กับพุทโธอันเดียว ภัยอันตรายทั้งปวงจะไม่มาแผ้วพาน

          ขอให้เชื่อมั่นในพุทโธจริงๆ เถิด รับรองว่าไม่มีอันตรายแน่นอน เว้นเสียแต่กรรมเก่าที่เขาเคยได้กระทำไว้นั่นเป็นของสุดวิสัย แม้พระพุทธเจ้าก็ป้องกันให้ไม่ได้
          ผู้ภาวนาทั้งหลายแรกๆ ศรัทธายังอ่อน ไม่ว่าจะบริกรรมอะไรก็แล้วแต่เถอะ จะต้องถูกกิเลสเหล่านี้รบกวนด้วยกันทั้งนั้น เพราะกิเลสเหล่านี้มันเป็นพื้นฐานของโลกและพื้นฐานของจิต เมื่อเรามาภาวนาทำจิตให้เป็นอันเดียวเท่านั้นแหละ กิเลสเห็นว่าเราจะหนีจากมัน กิเลสเหล่านั้นมันจะมารุมล้อมไม่ให้เราหนีจากโลกนี้ได้
          ผู้มาเห็นโทษของมันว่ามันร้ายแรงอย่างนี้แล้ว ทำใจให้กล้าหาญ ปลูกศรัทธาให้หนักแน่นมั่นคง คิดเสียว่าเราได้หลงเชื่อกิเลสมาหลายภพหลายชาติแล้ว คราวนี้เราจะยอมเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า เอาพุทโธเป็นที่พึ่งล่ะ
          แล้วตั้งสติให้มั่นคง ทำใจให้แน่วแน่ในพุทโธให้เต็มที่ ยอมสละชีวิตเพื่อบูชาพุทโธ ไม่ให้จิตหนีจากพุทโธ เมื่อเราตั้งปณิธานไว้อย่างนั้นแล้ว จิตก็ดิ่งเข้าสู่อารมณ์เป็นหนึ่งเข้าถึงสมาธิได้
          ผู้ที่เข้าถึงสมาธิทีแรกจะมีอาการอย่างนี้คือ เราจะไม่ทราบเลยว่าสมาธิหรือจิตเป็นเอกัคคตารมณ์เป็นอย่างไร เราเพียงแต่ตั้งสติให้แน่วแน่สู่อารมณ์อันเดียว ด้วยอำนาจจิตตั้งมั่นสู่อารมณ์อันเดียวนั้นแหละ เป็นเหตุนำจิตให้เข้าถึงสมาธิได้ แล้วก็ไม่ได้คิดนึกว่าอาการของสมาธิเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และอยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มันเป็นของมันเองโดยอัตโนมัติ ใครๆ จะบังคับให้มันเป็นไม่ได้
          ในขณะนั้น จะมีความรู้สึกเหมือนกับเราอยู่อีกโลกหนึ่งต่างหาก (โลกจิต) มีความสุขสบายวิเวกหาอะไรเปรียบมิได้ในโลกนี้
          เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้วจะรู้สึกเสียดายอารมณ์อันนั้น และจำอารมณ์อันนั้นได้อย่างแม่นยำ ที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่จิตถอนออกมาจากอารมณ์นั้นทั้งนั้น ในขณะที่จิตกำลังรวมอยู่นั้น ใครจะพูดจะทำอะไรไม่รับรู้ทั้งหมด
          เราต้องฝึกจิตให้เข้าถึงสมาธิอย่างนี้อยู่บ่อยๆ เพื่อให้ชำนิชำนาญ แต่อย่าไปจำอารมณ์เก่า อย่าอยากให้เป็นอย่างเก่า มันจะไม่เป็นอย่างนั้น ซํ้าจะยุ่งใหญ่เป็นแต่เราคอยพิจารณาพุทโธ ๆ ให้จิตอยู่ในคำ บริกรรมนั้นก็แล้วกันมันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน
          จิตเป็นสมาธิใหม่ๆ เมื่อมันเป็นอีกมันจะไม่เป็นอย่างเก่า แต่ก็ช่างมัน มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ขอให้มันเป็นสมาธิก็แล้วกัน มันเป็นหลายอย่างจึงได้ความรู้กว้างและมีอุบายมาก
          ที่อธิบายมาโดยย่อนี้พอเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ ขอผู้ทำตามนี้จงอย่าได้เอามาใส่ใจ มันจะเป็นสัญญา ภาวนาจะไม่เป็นไป เพียงแต่จำไว้เป็นเครื่องเทียบเคียงในเมื่อเราภาวนาเป็นไปแล้ว
          ผู้ภาวนาทั้งหลาย ไม่ว่าจะภาวนาพุทโธหรือยุบหนอ พองหนอ หรือสัมมาอะระหังอะไรก็แล้วแต่ เมื่อจิตรวมเป็นสมาธิแล้วไม่คิดว่าจิตเราจะรวม หรือกำลังรวมอยู่หรืออะไรทั้งหมด แต่มันรวมของมันเองโดยอัตโนมัติ แม้ที่สุดคำบริกรรมอยู่นั้นก็ไม่ทราบว่ามันวางเมื่อไร มันจะมีแต่ความสงบสุขอยู่อันหนึ่งต่างหาก ซึ่งมิใช่โลกนี้และโลกอื่นหรืออะไรทั้งหมด และไม่มีใครหรือสิ่งอะไรทั้งสิ้น เป็นแต่สภาพของมันต่างหาก (ซึ่งเรียกว่า โลกของจิต)
          ในที่นั้นจะไม่มีคำว่าโลกนี้หรืออื่นใด ทั้งสิ้น สมมติบัญญัติในโลกอันนี้จะไม่ปรากฏในที่นั้น เพราะฉะนั้นในที่นั้นมันจะไม่เกิดปัญญาอะไรทั้งสิ้น เป็นแต่หัดจิตให้เป็นสมาธิไว้แล้วเทียบเคียงกับจิตไม่เป็นสมาธิว่าผิดแปลกต่างกันอย่างไร จิตเข้าถึงสมาธิเมื่อถอนออกมาพิจารณาในทางโลกกับทางธรรม มันต่างกันอย่างไรกับจิตที่ไม่ได้เป็นสมาธิ

ความเห็น

Loading Facebook Comments ...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *


คุณอาจจะใช้ป้ายกำกับและคุณสมบัติ HTML เหล่านี้ได้: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>