จิต กับ ใจ ในที่นี้จะพูดถึงเรื่องจิตกับใจให้เข้าใจอีกครั้งหนึ่ง ไหนๆ ก็พูดเรื่องฝึกหัดจิต (คือ สมาธิ) ถ้าไม่เข้าใจเรื่องจิตกับใจแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะฝึกหัดอบรมสมาธิได้ที่ไหนและอย่างไร
เกิดมาเป็นคนหรือสัตว์แล้ว ใครๆ ก็มีจิตใจด้วยกันทุกคน แต่ จิต และ ใจ นี้มันทำ หน้าที่ต่างกัน
จิต มันให้คิดให้นึก ให้ส่งส่าย และปรุงแต่งไปต่างๆ นานา สารพัดร้อยแปดพันเก้า แล้วแต่กิเลสมันจะพาไป
ส่วน ใจ นั้น คือ ผู้รู้อยู่เฉยๆ ไม่นึกคิด ไม่ปรุงแต่งอะไรทั้งหมด อยู่เป็นกลางๆ ในสิ่งทั้งปวง ตัวผู้รู้อยู่เป็นกลางๆ นั่นแหละ คือ ใจ
ใจ ไม่มีตัวตนเป็นนามธรรม เป็นแต่ผู้รู้เฉยๆ เราจะเอาไปไว้ที่ไหนก็ได้ ไม่ได้อยู่ในกายหรือนอกกายที่เรียกหทัยวัตถุว่า หัวใจ นั้นไม่ใช่ ใจ แท้ เป็นแต่เครื่องสูบฉีดเลือดให้วิ่งไปทั่วร่างกาย แล้วยังชีวิตให้เป็นอยู่เท่านั้น ถ้าหัวใจไม่ฉีดเลือดให้เดินไปทั่วร่างกายแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดำรงอยู่ไม่ได้
ใจ ตามภาษาชาวบ้านที่พูดกันเป็นประจำ เช่น คำว่า ฉันเสียใจ ฉันดีใจ ฉันร้อนใจ ฉันเศร้าใจฉันตกใจ ฉันน้อยใจ อะไรต่อมิอะไรก็ใจทั้งนั้น ฯลฯ แต่นักพระอภิธรรมเรียกเป็นจิตทั้งนั้น เช่น จิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศล จิตเป็นอัพยากฤต จิตเป็นกามาพจร จิตเป็นรูปาพจร จิตเป็นอรูปาพจร จิตเป็นโลกุตตระ ฯลฯ แต่ตัว จิต และตัว ใจ แท้เป็นอย่างไรหารู้ได้ไม่
จิต คือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ต้องใช้อายตนะทั้งหกเป็นเครื่องมือ พอตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ใจนึกคิดอารมณ์ต่างๆ ตามกิเลสของตนทั้งที่ดีและไม่ดี ดีก็ชอบใจ ไม่ดีก็ไม่ชอบใจ ล้วนแล้วแต่เป็น จิต คือ ตัวกิเลสทั้งนั้น นอกจากอายตนะหกนี้แล้ว จิตจะเอามาใช้ไม่ได้ ท่านแยกออกไปเป็นอินทรีย์หก ธาตุหก ผัสสะหก อะไรเยอะแยะ แต่ก็อยู่ในอายตนะหกนี้ทั้งนั้น นั่นเป็นอาการลักษณะของจิตผู้ไม่รู้จักนิ่งเฉย
ผู้หัดจิต คือ ผู้ทำ สมาธิ จะต้องสำรวมจิต จิตที่มันดิ้นรนไปตามอายตนะทั้งหก ดังที่อธิบายมาแล้วนั้นให้หยุดนิ่งอยู่ในคำบริกรรม พุทโธ อย่างเดียว ไม่ให้ส่งส่ายไปมาหน้าหลัง หยุดนิ่งเฉยและรู้ตัวว่านิ่งเฉย นั่นแหละตัว ใจ ใจแท้ไม่มีการใช้อายตนะใดๆ ทั้งหมด จึงเรียกว่า ใจ
ดังชาวบ้านเขาพูดว่า ใจๆ คือ ของกลางในสิ่งทั้งปวง เช่น ใจมือ ก็หมายเอาตรงกลางมือ ใจเท้า ก็หมายเอาตรงกลางของพื้นเท้า สิ่งทั้งปวงหมด เมื่อพูดถึงใจแล้วจะต้องชี้เข้าหาที่ตรงกลางทั้งนั้น แม้ที่สุดแต่ใจคนก็ต้องชี้เอาตรงท่ามกลางอก แท้จริงแล้วหาได้อยู่ที่นั้นที่นี้ไม่ดังอธิบายมาแล้ว แต่อยู่ตรงกลางสิ่งทั้งปวงหมด
เพื่อให้เข้าใจชัดเข้าอีก ทดลองดูก็ได้ พึงอัดลมหายใจเข้าไปสักพักหนึ่งดู..…ในที่นั้นจะไม่มีอะไรเลยนอกจากผู้รู้เฉยอย่างเดียว นั่นแหละ ใจ คือ ผู้รู้ แต่การจับ ใจ อย่างนี้จะอยู่ไม่นาน อยู่ได้ชั่วขณะที่กลั้นลมหายใจเท่านั้น แต่ทดลองดูเพื่อให้รู้จักว่า ใจ แท้มีลักษณะอย่างไรเท่านั้น
การกลั้นลมหายใจนี้ทำ ให้ทุกขเวทนาเบาบางลงบ้างผู้มีเวทนามากๆ จะต้องกลั้นลมหายใจด้วยตนเองเป็นประจำ เป็นยาแก้ปวดหายปวดได้ขนานหนึ่ง ดีเหมือนกัน
เมื่อรู้ว่า จิต และ ใจ มีหน้าที่และลักษณะต่างกันอย่างนี้แล้ว ก็จะฝึกจิตได้ง่ายขึ้น แท้จริง จิต และ ใจ ก็อันเดียวกันนั่นแหละ พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตอันใดใจก็อันนั้น การฝึกหัดอบรมสมาธิเราฝึกหัดแต่เฉพาะจิตอย่างเดียวก็พอแล้ว เมื่อฝึกจิตได้แล้วก็จะเห็นใจขึ้นมาในที่นั้นเอง
จิตนี้เมื่อเราฝึกอบรมเต็มที่ ด้วยการเอาสติเข้าไปควบคุมให้อยู่ในพุทโธเป็นอารมณ์อันเดียวแล้ว จะไม่ส่งส่ายไปในที่ต่างๆ แล้วจะรวมเข้ามาเป็นหนึ่ง และคำบริกรรมนั้นก็จะหายไปโดยไม่รู้ตัว จะมีความสงบเยือกเย็นเป็นสุขหาอะไรเสมอเหมือนไม่มี ผู้ไม่เคยได้ประสบ เมื่อประสบเข้าแล้วจะบรรยายอย่างไรก็ไม่ถูก เพราะความสุขสงบชนิดนี้ ซึ่งไม่มีคนใดในโลกนี้ได้เคยประสบมาก่อน ถึงเคยได้ประสบมาแล้วก็มิใช่อย่างเดียวกัน ฉะนั้น จึงบรรยายไม่ถูก แต่อธิบายให้ตัวเองฟังได้ ถ้าจะอธิบายให้คนอื่นฟัง ก็จะต้องใช้อุปมาอุปมัยเปรียบเทียบจึงจะเข้าใจได้ ของพรรค์นี้มันเป็นปัจจัตตัง ความรู้เฉพาะตน
ยิ่งไปกว่านั้นอีก ถ้าผู้นั้นได้บำเพ็ญบารมีมาแต่ชาติก่อนมากแล้วจะเกิดอัศจรรย์ต่างๆ นานา เป็นต้นว่าเกิดความรู้ความเห็น เห็นเทวดา ภูตผี เปรต อสุรกาย และเห็นอดีตอนาคตของตนและคนอื่นในชาตินั้นๆ ได้เคยเป็นอย่างนั้นมาแล้ว และจะเป็นอย่างนั้นต่อไปอีก โดยที่ตนไม่ตั้งใจจะให้เห็นอย่างนั้นเลย แต่เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วมันหากจะเห็นของมันเองอย่างน่าอัศจรรย์มาก
เรื่องพรรค์นี้ผู้ปฏิบัติสมาธิทั้งหลายใฝ่ใจหนักหนา เมื่อเห็นหรือรู้แล้วก็คุยโม้ให้คนอื่นฟัง เมื่อผู้อื่นทำตามแต่ไม่เห็นหรือไม่เป็นอย่างนั้น ก็ชักให้ท้อใจหาว่าบุญของเราน้อย วาสนาของเราไม่มี ชักคลายศรัทธาในการปฏิบัติ
ส่วนผู้ที่เป็นและเห็นนั้นเห็นนี้ดังที่ว่ามานั้น เมื่อเสื่อมจากนั้นแล้ว เพราะความที่เราไปหลงเพลินแต่ของภายนอกไม่ยึดเอา ใจ มาเป็นหลัก เลยคว้าอะไรก็ไม่ติด แล้วก็คิดถึงอารมณ์ของเก่าที่เราเคยได้เคยเห็นนั้นจิตก็ยิ่งฟุ้งใหญ่ ผู้ที่ชอบคุยก็เอาแต่ความเก่าที่ตนเคยได้รู้ได้เห็นนั้นมาคุยเฟื่องไปเลย นักฟังทั้งหลายชอบฟังนักแบบนี้แต่นักปฏิบัติเบื่อ เพราะนักปฏิบัติชอบฟังแต่ของความเป็นจริงและปัจจุบัน
พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า พระศาสนาของเราจะเสื่อมและเจริญก็เพราะผู้ปฏิบัตินี้ทั้งนั้น การเสื่อมเพราะผู้ปฏิบัติแล้วได้ความรู้อะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็เอาไปคุยให้คนอื่นฟังไม่แสดงถึงหลักของสมาธิภาวนา เอาแต่ของภายนอกมาพูด หาสาระอะไรไม่ได้ อย่างนี้ทำให้พระศาสนาเสื่อมโดยไม่รู้ตัว
ผู้ทำให้พระศาสนาเจริญนั้น พูดแต่สิ่งที่เป็นจริงเป็นประโยชน์ ไม่พูดเล่น พูดมีเหตุมีผล ปฏิบัติภาวนาอย่างนี้ บริกรรมอย่างนี้ ทำจิตให้รวมได้ สงบระงับกิเลสความฟุ้งซ่านได้อย่างนี้
ผู้บริกรรมภาวนา พุทโธ ๆ ๆ พึงทำ ใจให้เย็นๆ อย่าได้รับร้อน ให้ทำความเชื่อมั่นในคำบริกรรมพุทโธมีสติควบคุมจิตของตนให้อยู่ในพุทโธของตนก็แล้วกัน ความเชื่อมั่นเป็นเหตุให้ใจตั้งมั่นไม่คลอนแคลน ปล่อยวางความลังเลสงสัยอะไรทั้งหมด และจิตจะรวมเข้ามาอยู่ในคำบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ มีสติควบคู่กับพุทโธเท่านั้นตลอดเวลา จะยืน เดิน นั่ง นอน หรือประกอบกิจการงานอะไรทั้งหมด ก็จะมีสติรู้เท่าอยู่กับพุทโธอย่างเดียว ผู้ภาวนาสติยังอ่อนอุบายยังน้อย ต้องยึดคำบริกรรมพุทโธเป็นหลัก ถ้ามิฉะนั้นแล้วจะภาวนาไม่เป็นหรือเป็นไปแต่ยังจับหลักไม่ได้
ทำสมาธิให้แก่กล้าจิตเด็ด ถ้าสติแก่กล้าภาวนาจิตเด็ดว่าจะเอาอย่างนี้ละ ถ้าไม่ได้พุทโธไม่เห็นพุทโธขึ้นมาในใจ หรือจิตไม่หยุดนิ่งอยู่กับพุทโธอันเดียวแล้ว เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้ แม้ชีวิตจะดับก็ช่างมัน อย่างนี้แล้วจิตก็จะรวมลงเป็นหนึ่งโดยไม่รู้ตัว คำบริกรรมที่ว่าพุทโธ หรือสิ่งใดที่เราข้องใจหรือสงสัยอยู่นั้น ก็จะหายไปในพริบตาเดียว แม้ร่างกายอันนี้ซึ่งเราเคยยึดถือมานานแสนนาน ก็จะไม่ปรากฏในที่นั้น จะยังเหลือแต่ ใจ คือ ผู้รู้ผู้สงบเยือกเย็น เป็นสุขอยู่อย่างเดียว
ผูทำสมาธิได้อย่านี้แล้วชอบใจนัก ทีหลังทำสมาธิก็อยากได้อย่างนั้นอีก มันเลยไม่เป็นอย่างนั้น นั่นแหละความอยากเป็นเหตุ มันจึงไม่เป็นอย่างนั้น
สมาธิเป็นของละเอียดอ่อนมาก เราจะบังคับให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ และไม่ให้เป็นสมาธิก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน
ถ้าเราทำใจร้อนยิ่งไปกันใหญ่ เราต้องทำใจเย็นๆ จะเป็นสมาธิหรือไม่ก็ตาม เราเคยทำภาวนาพุทโธ ๆก็ภาวนาไปเรื่อยๆ ทำเหมือนกับเราไม่เคยภาวนาพุทโธมาแต่ก่อน ทำใจให้เป็นกลางวางจิตให้เสมอ แล้วผ่อนลมหายใจให้เบาๆ เอาสติเข้าไปกำหนดจิตให้อยู่กับพุทโธอย่างเดียว เวลามันจะเป็นมันหากเป็นของมันเอง เราจะไปแต่งให้มันเป็นไม่ได้ ถ้าเราแต่งเอาได้ คนในโลกนี้ก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์กันหมดแล้ว
รู้แล้วแต่ทำไม่ถูก ทำถูกแล้วอยากเป็นอย่างนั้นอีกก็ไม่ได้ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นอุปสรรคของการทำสมาธิทั้งนั้น
ผู้ภาวนาบริกรรมพุทโธ ต้องทำให้ชำนิชำนาญคล่องแคล่ว ในขณะที่อารมณ์ทั้งดีและชั่วมากระทบเข้า ต้องทำสมาธิให้ได้ทันที อย่าให้จิตหวั่นไหวไปตามอารมณ์ได้ นึกถึงคำบริกรรมพุทโธเมื่อไร จิตก็รวมได้ทันทีอย่างนี้จิตจึงจะมั่นคงเชื่อตนเองได้
เมื่อหัดให้ชํ่าชองชำนิชำนาญอย่างนี้นานๆ เข้า กิเลสความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงมันจะค่อยหายไปเองไม่ต้องไปชำระกิเลสตัวนั้นตัวนี้ว่ากิเลสตัวนั้นจะต้องชำระด้วยธรรมข้อนั้นๆ ด้วยวิธีอุบายอย่างนั้นๆ เราละกิเลสได้ด้วยอุบายอย่างไร ก็พึงยินดีเท่านั้น เอาเพียงแค่นี้ก็พอแล้ว
กิเลสค่อยหายไปด้วยอุบายอย่างที่อธิบายแล้ว ดีกว่าเราจะไปละกิเลสด้วยการปรุงแต่ง เข้าฌานที่ ๑ – ๒ -๓ – ๔ ด้วยการละวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข มีเอกัคคตาและอุเบกขาเป็นอารมณ์ หรือทำให้ได้ ปฐมมรรค ด้วยการละกิเลส สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ไปมองดูแต่กิเลสนั้นๆ ว่ากิเลสตัวนั้นๆ เราทำจิตให้ได้อย่างนั้น เราพ้นจากกิเลสตัวนั้นๆ ได้แล้ว กิเลสเรายังเหลืออยู่อีกเท่านั้น ทำจิตให้ได้อย่างนั้นกิเลสของเราจึงจะหมดสิ้นไป
แต่ไม่ได้มองดูจิตผู้เกิดกิเลสที่อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น ว่านั้นเป็นตัวกิเลสที่เกาะอยู่กับจิต พอเลิกจากการพิจารณานั้นแล้วจิตก็จะอยู่อย่างเดิมไม่ได้อะไรเลย
นอกจากไม่ได้อะไรแล้ว พอมีผู้มาแย้งความคิดความเห็น ซึ่งไม่ตรงต่อความเห็นของตนแล้ว จะต้องโต้แย้งอย่างรุนแรง เหมือนกับไฟลุกแล้วเอานํ้ามันมาราด ฉะนั้น ขอให้ยึดคำบริกรรมพุทโธไว้ให้มั่นคงเถิด ถ้าไม่ได้อะไรก็ยังพอมีคำบริกรรมไว้เป็นหลัก อารมณ์นั้นๆ ก็จะเบาบางลงได้บ้าง หรืออาจระงับหายไปก็เป็นได้ ดีกว่าไม่มีหลักอะไรเป็นเครื่องยึด
แท้จริงผู้ภาวนาทั้งหลายต้องยึดเอาคำภาวนาของตนให้มั่นคง จึงจะได้ชื่อว่าภาวนา มีหลัก เวลาภาวนาเสื่อม จะได้เอา เป็นหลัก
พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้ว่า ผู้ทำความเพียรเพื่อละกิเลสทั้งหลาย จงทำตัวให้เหมือนกับนักรบโบราณสมัยก่อนต้องทำ กำแพงล้อมเมืองให้แน่นหนา มีค่ายคูประตูหอรบเสร็จเพื่อป้องกันข้าศึกอันจะมาราวีนักรบที่ฉลาดเมื่ออกรบกับข้าศึกเห็นว่าจะสู้ข้าศึกไม่ได้แล้ว ก็ล่าทัพกลับสู่พระนครแล้วรักษาพระนครไว้ไม่ให้ข้าศึกเข้ามาทำลายได้ พร้อมกันนั้นก็สะสมรี้พลอาวุธและอาหารให้พร้อมเพรียง (คือทำ สมาธิให้มั่นคงกล้าหาญ) แล้วจึงออกรบข้าศึกอีกต่อไป (คือ มวลกิเลสทั้งปวง)
สมาธิเป็นกำลังสำคัญมาก ถ้าไม่มีสมาธิแล้ววิปัสสนาจะเอากำลังมาจากไหน ปัญญาวิปัสสนามิใช่เป็นของจะพึงแต่งเอาได้เมื่อไร แต่เกิดจากสมาธิที่หัดได้ชำนิชำนาญมั่นคงดีแล้วต่างหาก
ความเห็น