ฝึกหัดสมาธิโดยบริกรรมพุทโธ
โดย
พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์
(เทสก์ เทสรังสี)
แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘
เมื่อเริ่มจะเข้าไปเรียนพระกัมมัฏฐานในคณะไหนสำนักพระอาจารย์องค์ใด ผู้ที่ท่านชำนิชำนาญในพระกัมมัฏฐานนั้นๆ แล้ว พึงตั้งจิตเชื่อมั่นในพระอาจารย์องค์นั้นว่า ท่านองค์นี้แหละเป็นผู้ชำนาญในพระกัมมัฏฐานนี้ โดยเฉพาะแน่แท้แล้วก็ให้เชื่อมั่นในพระกัมมัฏฐานที่ท่านสอนนั้นว่าเป็นทางที่ถูกต้องแน่นอน และพึงให้ความเคารพในสถานที่ที่ตนไปทำพระกัมมัฏฐานนั้นอีกด้วย แล้วจึงเข้าไปเรียนเอาพระกัมมัฏฐานนั้นต่อไป
โบราณาจารย์ท่านมีพิธีปลุกศรัทธาเบื้องต้นก่อนเรียนเอาพระกัมมัฏฐาน คือ จัดยกครูด้วยเทียนขี้ผึ้ง ๕ คู่ ดอกไม้ขาว ๕ คู่ เรียกว่า ขันธ์ห้า
เทียนขี้ผึ้ง ๘ คู่ ดอกไม้ขาว ๘ คู่ เรียกว่า ขันธ์แปด
หรือเทียนขี้ผึ้งคู่หนักเล่มละ ๑ บาท ดอกไม้ขาวเท่ากับเทียน
แล้วอาราธนาเอาพระกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ ให้เข้ามาอยู่ในขันธสันดานของข้าพเจ้าในกาลบัดนี้ แล้วจึงเรียนเอาพระกัมมัฏฐานนั้นต่อไป พิธีแยบยลโบราณกาลท่านดีเหมือนกันยังมีอีกมากมายแต่ผู้เขียนจะไม่กล่าวถึง จะกล่าวแต่พิธีง่ายๆ พอทำได้ในตอนต่อไป
เมื่อปลูกศรัทธาความเชื่อมั่นให้มีขึ้นในจิตใจของตนดังกล่าวมาแล้ว จึงเข้าไปหาพระอาจารย์ที่ชำนาญในกัมมัฏฐานนั้นๆ ถ้าท่านชำนาญในฝ่ายบริกรรม สัมมาอะระหัง ท่านก็สอนให้ภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ให้กำหนดเป็นดวงแก้วใสๆ อยู่เหนือสะดือขึ้นไป ๒ นิ้ว แล้วเอาจิตไปตั้งไว้ตรงนั้น ภาวนาไปเรื่อยๆ อย่าให้จิตหนีไปจากดวงแก้ว หมายความว่า เอาดวงแก้วเป็นที่ตั้งของดวงจิตก็แล้วกัน
เมื่อเข้าไปหาพระอาจารย์ที่ชำนาญในด้านการภาวนา ยุบหนอ พองหนอ ท่านก็สอนให้ภาวนายุบหนอพองหนอ ให้กำหนดเอาจิตไปไว้ที่อิริยาบทต่างๆ เช่น ยกเท้าขึ้นว่ายุบหนอ เหยียบเท้าลงก็ว่า พองหนอ หรือพิจารณาให้เห็นความเกิดและความดับทุกอิริยาบถ อย่างนี้เรื่อยไปเป็นอารมณ์
เมื่อท่านเข้าไปหาพระอาจารย์ที่ชำนาญในด้านอิทธิฤทธิ์ ท่านก็สอนคาถาภาวนาให้ว่า นะมะพะธะ นะมะพะธะ ให้เอาจิตเป็นอารมณ์อันหนึ่ง จิตจะพาไปเห็นเทพ นรก อินทร์ พรหมต่างๆ นานา หลายอย่างจนเพลินอยู่กับอารมณ์นั้นๆ
เมื่อเข้าไปหาพระอาจารย์ที่ท่านชำนาญในด้านอานาปานสติ ท่านก็จะสอนให้กำหนดลมหายใจเข้า – ออก ให้จิตตั้งมั่นอยู่กับลมหายใจเข้า – ออก อย่างเดียวเป็นอารมณ์
เมื่อเข้าไปหาพระอาจารย์ที่ท่านชำนาญในด้านภาวนาพุทโธ ท่านก็จะสอนให้บริกรรมว่า พุทโธ ๆ ๆ แล้วให้เอาจิตไปตั้งมั่นอยู่ในคำบริกรรมนั้น จนชำนาญเต็มที่แล้ว ก็จะสอนให้พิจารณาพุทโธ กับผู้ว่าพุทโธ เมื่อพิจารณาเห็นเป็นคนละอันกัน แล้วพึงจับเอาผู้ว่าพุทโธ ส่วนพุทโธนั้นจะหายไปเหลือแต่ผู้ว่าพุทโธอย่างเดียว
ให้ยึดเอา “ผู้ว่าพุทโธ” นั้นเป็นหลักต่อไป
คนในสมัยนี้หรือในสมัยไหนก็ตาม หรือจะมีความรู้ความสามารถสักปานใดก็ช่าง ไม่ได้โทษว่าคนเหล่านั้นมักตื่นเต้นในสิ่งที่ตนยังไม่เคยทดสอบหาความจริงแล้วหลงเชื่อตาม เพราะเขาเหล่านั้นอยากรู้อยากเห็นของจริงโดยเฉพาะคนถือพระพุทธศาสนามาแล้ว และพุทธศาสนาก็แสดงถึงเหตุผลซึ่งเป็นจริงทั้งนั้น แต่ทำไมจึงต้องไปหลงเชื่อตามคำโฆษณาซึ่งมีอยู่ดาษดื่นทั่วไป นี่จะเป็นเพราะคนในสมัยนี้ใจร้อน ยังไม่ทำให้ถึงพร้อมแต่อยากได้ผลเร็วอย่างที่เขาพูดกันว่า “คนสมัยปรมาณู” นั้นกระมัง
พุทธศาสนาสอนเข้าถึงจิตใจอันเป็นนามธรรม ส่วนร่างกายมันเป็นรูปธรรม รูปธรรมมันต้องอยู่ในบังคับบัญชาของนามธรรม เมื่อเริ่มหัดสมาธิฝึกหัดจิตให้สงบไม่วุ่นวาย ในขณะนั้นไม่เห็นไปทำ ความเดือดร้อนให้แก่ใครทั้งหมด ฝึกหัดไปจนชำนาญได้ที่แล้วผู้นั้นก็สงบเยือกเย็น มีคนฝึกหัดอย่างนี้จำนวนมากๆ เข้า โลกอันนี้ก็จะมีแต่ความสงบสุขทั่วกัน ส่วนรูปธรรมนั้นเราจะฝึกหัดให้สงบได้ก็แต่เมื่อจิตบังคับอยู่เท่านั้น เมื่อจิตเผลอกายก็จะเป็นไปตามเรื่องของมัน ฉะนั้น เราพากันมาฝึกหัดจิตบริกรรมพุทโธลองดู
ปุพพกิจก่อนทำสมาธิ ก่อนจะทำ กัมมัฏฐานภาวนาพุทโธ พึงทำปุพพกิจเบื้องต้นก่อน คือ ตั้งจิตให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสให้เต็มที่ ดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้น แล้วพึงกราบ ๓ หนแล้วกล่าว
อรหํ สมมาสมพุทโธ ภควา, พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ถูกถ้วนดีแล้ว,
พุทธํ ภควนตํ อภิวาเทมิ. ข้าพเจ้าอภิวาทกราบไหว้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น. (พึงกราบลงหนหนึ่ง)
สวากขาโต ภควตา ธมโม, พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว,
ธมมํ นมสสามิ. ข้าพเจ้านมัสการกราบไหว้ซึ่งพระธรรมเจ้านั้น. (พึงกราบลงหนหนึ่ง)
สุปฏิปนโน ภควโต สาวกสงโฆ, พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ท่านปฏิบัติดีแล้ว,
สงฆํ นมามิ. ข้าพเจ้าขอนอบน้อมซึ่งพระสงฆ์. (พึงกราบลงหนหนึ่ง)
นโม ตสส ภควโต อรหโต สมมาสมพุทธสส. (กล่าว ๓ จบ)
ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาเอกของโลก ทรงพ้นจากทุกข์และจากกิเลสทั้งปวงแล้ว ทรงอยู่เกษมสำราญทุกเมื่อ. (พึงกราบลงสามหน)
หมายเหตุ ปุพพกิจเบื้องต้นที่นำมาแสดงให้ดูนี้ เป็นแต่ตัวอย่างเท่านั้น หากใครได้มากจะไหว้มากก็ได้ไม่ขัดข้อง แต่ต้องไหว้ก่อนนั่งสมาธิทุกครั้งไป เว้นแต่สถานที่ไม่อำนวย
ความเห็น